โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก (Bell’s palsy) ใช้เรียกอาการหน้าเบี้ยวครึ่งซีกอย่างเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยมีอาการเปลือกตาตกลง ปิดตาไม่สนิท รอยย่นข้างจมูก (nasolabial fold) หายไป มุมปากตก มีอาการชาลิ้น หูอื้อร่วมด้วย โดยมีลักษณะแบบ lower motor neuron
ซึ่งต้องแยกจากรอยโรคที่สมองที่พบได้บ่อยเช่นกัน คือ โรคหลอดเลือดสมอง (stroke) ที่จะมีลักษณะแบบ upper motor neuron ซึ่งเราสามารถแยกจากกันง่ายๆโดยการให้ผู้ป่วย “ยิ้มยิงฟัน (show me your teeth) ”
- รอยโรคที่เส้นประสาทส่วนปลาย จะพบว่ามีมุมปากตก และรอยย่นหน้าผากข้างที่มุมปากตกผิดปกติด้วย
- รอยโรคที่สมอง จะพบว่ามีมุมปากตก และรอยย่นหน้าผากปกติ
อย่างไรก็ตาม โรคของเส้นประสาทส่วนปลายของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 (facial nerve) อาจมีสาเหตุอื่นๆอีก แต่พบได้น้อยกว่ามาก ได้แก่ DM, HT, HIV infection, Lyme disease, Ramsay Hunt syndrome, sarcoidosis, Sjögren’s syndrome, parotid-nerve tumors, eclampsia, และ amyloidosis ดังนั้นโดยทั่วไป ถ้าผู้ป่วยมีอาการใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก โดยอาการเป็นเฉียบพลัน ตรวจร่างกายเป็นแบบ lower motor neuron และไม่ได้มีลักษณะทางคลินิกอื่นๆที่น่าสงสัย (ได้แก่ เป็นสองข้าง, เป็นซ้ำ หรือมีความผิดปกติของเส้นประสาทสมองเส้นอื่นๆ) สามารถให้การวินิจฉัย Bell’s palsy ได้โดยที่ไม่ต้องตรวจพิเศษเพิ่มเติม
การรักษา
- จากการศึกษาพบว่าผู้ป่วย Bell’s palsy ที่ไม่ได้รับการรักษา มีอาการหายโดยสมบูรณ์ ร้อยละ 71 และอาการดีขึ้นในระดับที่ใกล้เคียงปกติ ร้อยละ 84
- การให้ steroids ภายใน 3 วันหลังจากมีอาการ พบว่าทำให้อาการดีขึ้น 13-15% (number need to treat 6-8) โดยขนาดของ steroids มีสองสูตร คือ prednisolone 60 มก. 5 วัน หลังจกนั้นค่อยๆลดลงจนหมดภายใน 5 วัน อีกสูตรหนึ่งคือ prednisolone 25 มก.วันละ 2 ครั้งนาน 10 วัน
- ไม่พบว่าการให้ยารักษาโรคไวรัสได้ประโยชน์เพิ่มเติมจากการให้ steroids แต่อย่างใด
- การรักษาโดยการผ่าตัด (Surgical Decompression) ยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันว่ามีประโยชน์หรือไม่
- ผู้ป่วยควรได้รับการแนะนำให้ปิดตาในเวลากลางคืน หรือใช้น้ำตาเทียมร่วมด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้กระจกตาแห้งและเป็นแผลได้ และที่สำคัญ อย่าลืมแนะนำคนไข้ “ไม่ให้ล้างหน้าด้วยสบู่” นะครับ อาจารย์ของผมย้ำนักหนา
กล่าวโดยสรุป : โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก (Bell’s palsy) เป็นความผิดปกติของเส้นประสาทสมองเส้นที่ 7 (facial nerve) ที่ไม่ทราบสาเหตุ อาการเป็นเฉียบพลัน โดยทั่วไปสามารถให้การวินิจฉัยโดยการซักประวัติและการตรวจร่างกาย โดยไม่ต้องตรวจพิเศษเพิ่มเติม โดยทั่วไปมีการพยากรณ์โรคที่ดี อย่างไรก็ตามถ้าผู้ป่วยมาตรวจภายใน 3 วันหลังจากมีอาการ การให้ prednisolone ในขนาด 50-60 มก.ต่อวัน เป็นเวลา 10 วันพบว่าได้ประโยชน์
เอกสารอ้างอิง
- Donald H. Gilden, Bell’s palsy. N Engl J Med 2004; 351:1323-1331, September 23, 2004
- Gronseth GS and Paduga R. Evidence-based guideline update: Steroids and antivirals for Bell palsy. Report of the Guideline Development Subcommittee of the American Academy of Neurology. Neurology 2012 Nov 7